CHULALONGKORN
BUSINESS
ADMINISTRATION

what's CBA
บริษัทจำลอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Chulalongkorn Business Administration : CBA) ก่อตั้งขึ้น
ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2525 (ข้อมูลจากสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย) โดยความร่วมมือระหว่างคณะ
พาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (Thailand
Management Association : TMA) มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นโครงการฝึกงานนิสิตในช่วงภาคฤดูร้อนของคณะ
พาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ ซึ่งเปิดทำการช่วงกลางเดือนมีนาคมถึงสิ้นเดือนพฤษภาคมเป็นประจำทุกปี

ทำงานด้วยใจ คืนกำไรสู่สังคม
นอกจากผลงานด้านธุรกิจแล้ว ความเป็นรุ่นและมิตรภาพนั้นนับว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้บริหารบริษัทจำลองจุฬาฯในหลายๆรุ่น จากที่ผ่านมาคณะผู้บริหารบริษัทจำลอง จุฬาฯ จะมีความสนิทสนมกลมเกลียวในรุ่นอย่างมาก อันจะเห็นได้จากการที่ศิษย์เก่าบริษัทจำลอง จุฬาฯ ยังคงพบปะสังสรรค์และช่วยเหลือเกื้อกูลกันอย่างต่อเนื่อง แม้จะจบการศึกษามาเกือบ 5 ปี 10 ปี หรือนานกว่าก็ตาม นอกจากความสัมพันธ์ภายในรุ่นแล้ว เครือข่ายและความสัมพันธ์ของพี่น้องระหว่างรุ่นก็เป็นเครื่องบ่งชี้มิตรภาพที่ดี อันจะเห็นได้จากการที่รุ่นพี่บริษัทจำลอง จุฬาฯ ยังมีการเข้ามาให้คำแนะนำกับรุ่นน้องบริษัทจำลอง จุฬาฯ ที่เป็นนิสิตอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการที่รุ่นพี่รุ่นน้องศิษย์เก่าที่เรียนจบไปแล้วยังคงเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันทั้งการให้คำแนะนำเรื่องอาชีพการงาน การศึกษาต่อ และเรื่องราวอื่นๆในชีวิตนอกจากนี้บริษัทจำลอง จุฬาฯ ในทุกๆปี ได้มีการนำผลกำไรที่ได้รับจากการดำเนินงานไปสร้างสรรค์กิจกรรมที่ก่อให้เกิดประโยชน์กับสังคมโดยรวมอันจะเห็นได้จากกิจกรรมเพื่อสาธารณกุศล

บริษัทจำลอง จุฬาฯ กับ “การเติบโตอย่างยั่งยืน”
การปรับรูปแบบจากคณะกรรมการที่ปรึกษามาเป็นคณะกรรมการดำเนินงาน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 นั้นเป็นจุด
สำคัญที่ทำให้มีการกำกับดูแลตลอดจนให้ความรู้และฝึกสอนนิสิตผู้บริหารบริษัทจำลอง จุฬาฯ อย่างใกล้ชิดและเกิดความต่อเนื่อง โดยมีนิสิตผู้บริหารที่พึ่งสำเร็จการบริหารบริษัทจำลอง จุฬาฯ ในแต่ละปี เป็นอีกหนึ่งแกนหลักในการต่อยอดความสำเร็จ เช่น มีการจัดทำสรุปผลการดำเนินงานและข้อเสนอแนะมอบเป็นเอกสารถ่ายทอดงานแก่รุ่นถัดไป การส่งต่อข้อมูลและระบบสารสนเทศทั้งชุดเพื่อให้ใช้ต่อยอดในรุ่นถัดไป การเปิดโอกาสให้ผู้บริหารบริษัทจำลอง จุฬาฯ หน้าที่ในรุ่นก่อนหน้าโดยเฉพาะผู้จัดการทั่วไปเข้ามาร่วมในคณะกรรมการดำเนินงานเพื่อประสานงานโครงการในรุ่นถัดไป การส่งเสริมสนับสนุนงบประมาณในการจัดสัมมนาผู้บริหารและอำนวยการต่างๆโดยผู้บริหารรุ่นก่อนหน้า เป็นต้น ในช่วงยุคใหม่นี้ มีอีกเหตุการณ์สำคัญในการสร้างความต่อเนื่องของโครงการ โดยในปี พ.ศ. 2548 คุณนภัส ชัยวงศ์โรจน์ (พี่แทต Shi 61) และ ดร. กนก กาญจนภู (พี่เคน Shi 62) ได้เริ่มหารือกันอย่างไม่เป็นทางการเกี่ยวกับการกำหนดค่านิยมหลัก (Core Values) ของบริษัทจำลอง จุฬาฯ เพื่อสร้างความต่อเนื่องในการถ่ายทอดวิถีทางที่ดีของบริษัทจำลอง จุฬาฯแก่นิสิตผู้บริหารในรุ่นหลัง จึงมีการหารือกันต่อในวงกว้าง โดยมีคุณประเมศฐ์ ฤทธิพรพสิษฐ์ (พี่ป๊อด Shi 61) คุณอภิวิชญ์ พงษ์เภตรารัตน์ (พี่โอ Shi 61) และคุณศุภวัฒน์ เตชะวรบท (พี่อิ๊ก Shi 63) เข้าร่วมพูดคุยถึงแนวคิดต่างๆเพื่อความยั่งยืนในอนาคต จนเป็นที่มาของการกำหนดค่านิยมหลัก (Core Values) ของบริษัทจำลอง จุฬาฯ 3 ข้อ ได้แก่ การเรียนรู้ (Learning) ความเป็นธุรกิจจริง (Business) และจริยธรรม (Ethics) ซึ่งสอดคล้องต่อพันธกิจขององค์กรและถ่ายทอดมาจนทุกวันนี้